Skip to main content

carpaltunnelsyndrome

ทำงานคอมฯ จับเมาส์ เขียนหนังสือเยอะๆ ก็มือชาได้ !!!
Posted: July 12, 2021 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ (carpal tunnel syndrome) หนึ่งในกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) กลุ่มอาการที่พบบ่อย เกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่มีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องนานๆ

กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ
 

อาการ

- ปวด ชาฝ่ามือและนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้ง ชี้ กลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว อาจรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต

- ปวดมากตอนกลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า

- เมื่อยล้าง่ายเมื่อมีการพิมพ์คอม เขียนหนังสือ หยิบจับโทรศัพท์มือถือ อ่านหนังสือ ขับรถยนต์

- เมื่อสะบัดข้อมืออาการปวด ชาจะทุเลาลง

- เมื่อเป็นนานๆกล้ามเนื้อมือก็จะมีการอ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ การรับความรู้สึกของมือจะลดลง


สาเหตุ 

- พันธุกรรม โดยผู้ที่มีข้อมือเล็ก เช่น ผู้หญิง เสี่ยงต่อการบีบอัดหรือกดทับเส้นประสาทมีเดียนสูง

- ความผิดปกติด้านโครงสร้าง เช่น ข้อมือหักหรือเคลื่อน ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับได้

- การใช้งานมือและข้อมือที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ที่เคลื่อนไหวมือกับข้อมือในลักษณะเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้งานคอมพิวเตอร์ และการงอข้อมือซ้ำ ๆ 

- เส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีเส้นประสาทมือถูกทำลายมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็น Carpal Tunnel Syndrome

- การอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้อมือ เช่น ข้อมืออักเสบ ซึ่งมีผลต่อเยื่อบุรอบเอ็นยึดข้อมือ และอาจทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ

- ภาวะอ้วน เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เส้นประสาทข้อมือถูกบีบอัดหรือรับแรงกดจนเกิด Carpal Tunnel Syndrome ได้เช่นกัน

- การเกิดของเหลวคั่งในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จนทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ

- ภาวะอื่น ๆ เช่น โรคไฮโปไทรอยด์ ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง และไตวาย


การวินิจฉัยโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ เพื่อทำการแยกโรคที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยวิธีอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

1. การทดสอบพิเศษ (Provocation test)

1.1 Phalen’s test: ให้ผู้ป่วยวางข้อศอกบนโต๊ะ หลังจากนั้นให้อยู่ในท่า fully flexion of wrist ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที หากมีอาการชาขึ้นมาตาม median nerve distribution จะให้ผล positive 

Phalen’s test

1.2 Tinel’s sign: ให้ผู้ตรวจเคาะลงบริเวณ median nerve ส่วนใหญ่คือ proximal ต่อ distal wrist crease ประมาณ 0.5-1 cm ระหว่าง flexor carpi radialis และ palmaris longus หากเคาะแล้วผู้ป่วยมีภาวะปวดหรือความรู้สึกไฟช๊อตตาม median nerve distribution จะถือว่า  positive 

Tinel’s sign

2. การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท(Electrodiagnosis) เป็นการช่วยยืนยันในการวินิจฉัย และพยากรณ์โรค

3. การตรวจด้วยรังสีวิทยา

- เอกซเรย์ (X-ray) เพื่อดูโครงสร้างของมือ ด้วยการฉายภาพรังสี ซึ่งช่วยคัดกรอง โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือจากโรคอื่นๆ เช่นข้ออักเสบ เอ็นยึดบาดเจ็บ และกระดูกหัก

- อัลตราซาวด์ (Ultrasound diagnosis) เพื่อวิเคราะห์การบีบอัดของเส้นประสาทมีเดียน ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง  

- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพื่อดูเนื้อเยื่อบริเวณเส้นประสาทมีเดียนที่ผิดปกติ จากการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นแผลเป็นจากการบาดเจ็บ หรือเนื้องอกบริเวณข้อมือ 
 

วิธีการรักษา

1. การรักษาด้วยยารับประทาน จำพวกวิตามินบี ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)


2. การรักษาด้วยยาฉีดเฉพาะที่จำพวกสเตียรอยด์ (Steroid) เข้าไปในช่องลอดของฝ่ามือ เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาท


3. การรักษาโดยการใส่กายอุปกรณ์ เพื่อพักการเคลื่อนไหวของข้อมือ เพราะถ้าข้อมืองอหรือกระดูกขึ้น จะทำให้เกิดการเพิ่มแรงดันภายในช่องลอด ความดันที่เพิ่มขึ้นจะไปกดหลอดเลือดเล็กๆ ของเส้นประสาท ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทน้อยลง


4. การทำกายภาพบำบัด โดยการรักษาจะใช้เครื่องHigh power laser อัลตร้าซาวด์ ประคบร้อนเพื่อคลายพังผืดที่ทับเส้นประสาท การขยับข้อต่อของข้อมือ การยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น 


5. การผ่าตัด โดยการตัดเยื่อพังผืดส่วนผนังทางด้านฝ่ามือของช่องลอดที่คลุมเส้นประสาท เพื่อขยายปริมาตรของช่องลอด และลดความดันภายในช่องลอด
 

วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น

- พักการใช้งานของมือ หรือระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะหากต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่สั่นและต้องใช้แรงมาก ควรพักมือเป็นระยะ โดยยืดกล้ามเนื้อข้อมือและแขน ขยับข้อมือเบาๆ

- ถ้าทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือต้องพิมพ์งานบ่อยๆ ควรหาแผ่นเม้าส์ที่มีเจลสำหรับรองข้อมือ เมื่อใช้เม้าส์ และผ้านุ่มๆ หรือฟองนํ้ามารองข้อมือขณะพิมพ์แป้นคีย์บอร์ด

แผ่นเม้าส์ที่มีเจลสำหรับรองข้อมือ เมื่อใช้เม้าส์ และผ้านุ่มๆ

- หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ และสวมเฝือกข้อมือในเวลากลางคืน

หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ และสวมเฝือกข้อมือในเวลากลางคืน

- ประคบอุ่น/แช่น้ำอุ่น 15-20 นาที

-ที่สำคัญที่สุด ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อทำการตรวจรักษา และร่วมกับการทำกายภาพบำบัด จะเป็นการรักษาที่ดีโดยไม่ต้องผ่าตัด

 

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare