Skip to main content

ปวดเข่าด้านข้าง

นั่งไขว้ห้าง เป็นพิษต่อสรีระ ?
Posted: September 24, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

การนั่งไขว่ห้าง เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทั้งเพศหญิงและชาย เนื่องด้วยความรู้สึกสะดวกสบายเวลานั่ง หลายๆคนจึงทำจนติดเป็นนิสัย แต่หากเรานั่งด้วยท่าทางที่ทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายมากกว่าปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้มากมาย ตัวอย่างเช่น

ภาพแสดง การเปรียบเทียบแนวกระดูกสันหลังขณะนั่งไขว่ห้าง (ซ้าย) และท่านั่งตรง (ขวา)

1. ส่งผลต่อสรีระของร่างกายให้เกิดการไหล่ห่อ เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการงอพับของข้อสะโพกมากกว่าปกติ จึงทำให้หลังงอและลำตัวโน้มไปด้านหน้ามากขึ้น จนเกิดเป็นพฤติกรรมไหล่ห่อได้


2. ปวดหลังหรือปวดสะโพก เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างจะมีการยกขามาไขว้ทับกัน มีการลงน้ำหนักที่สะโพกไม่เท่ากัน ร่วมกับช่วงลำตัวเกิดการบิดหมุน จึงทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างทำงานไม่สมดุลกัน เป็นสาเหตุของอาการปวดเอว ปวดหลังได้

ภาพแสดง การเอียงของแนวกระดูกสันหลังและสะโพก

3. เกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง หรือ เป็นกระดูกสันหลังคด ภาวะการบิดหมุนของกระดูกสันหลังเกิดเป็นความโค้งงอรูปตัว S หรือ C เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการบิดหมุนของแนวกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน เพื่อให้มีการถ่ายเทน้ำหนักได้อย่างสมดุลขณะที่นั่ง ส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังมีความเอียงเกิดขึ้น และหากยังไม่มีการปรับพฤติกรรมในการนั่งอาจจะทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังมีการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็นกระดูกสันหลังคดได้

4. กระดูกสันหลังเสื่อม การไขว่ห้างนั้นทำให้เกิดการบิดหมุนของแนวกระดูกสันหลัง ประกอบกับการลงหนักที่ไม่เท่ากันของทั้งสองข้าง ทำให้ด้านที่รับน้ำหนักนั้นเสี่ยงในการเกิดความเสื่อมของหลังได้มากกว่า

5. ปวดเข่า จากการนั่งไขว้ห้าง ทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่ขาและเข่าด้านหนึ่งมากกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดการบิดหมุนของข้อเข่าร่วมด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับกระดูกข้อเข่า ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงเกิดอาการปวดเข่าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่ถูกต้อง

ดังนั้นเราจึงควรปรับท่านั่งให้ถูกต้อง โดยการนั่งหลังตรง ก้นชิด ลงน้ำหนักให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ขาวางราบกับพื้น และมีการเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรากัน และหากมีปัญหาปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่าจากการนั่งในท่าที่ผิด สามารถให้รีแฮปแคร์คลินิกช่วยดูแลได้

ผู้เขียน : กภ.ปุณณภา (ป่าน)
Reference
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5140821/ 
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10450120/

3 อันดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอล
Posted: September 23, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

สำหรับนักกีฬาหรือคนที่ชอบการเล่นกีฬาคงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็ว เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน และเกิดการปะทะ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่างๆได้ ดังนี้

1. เส้นเอ็นข้อเข่าบาดเจ็บ (Knee ligaments sprain) โดยเส้นเอ็นข้อเข่า(knee ligaments) จะมี 4 เส้น ประกอบไปด้วย 
- เอ็นไขว้หน้า (ACL ; Anterior Cruciate Ligament)
- เอ็นไขว้หลัง (PCL ; Posterior Cruciate Ligament)
- เอ็นข้างด้านใน (MCL ; Medial Collateral Ligament)
- เอ็นข้างด้านนอก (LCL ; Lataral Collateral Ligament)

ซึ่งเส้นเอ็นข้อเข่าจะเชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยรักษาและพยุงความมั่นคงของข้อเข่าไว้ในขณะทำกิจกรรม ซึ่งในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด กระแทก เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรือเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้ข้อเข่าโดนกระแทกหรือบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้เส้นเอ็นข้อเข่าอาจจะเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณเข่า (ขึ้นอยู่กับเส้นเอ้นที่บาดเจ็บ) เข่าบวม รู้สึกเข่าไม่มั่นคง

2. หมอนรองเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด (Meniscus tear) โดยหมอนรองเข่ามี 2 ส่วน ประกอบไปด้วย
- หมอนรองเข่าด้านใน (Medial meniscus)
- หมอนรองเข่าด้านนอก (Lateral meniscus)

ซึ่งหมอนรองเข่าจะอยู่ภายในข้อเข่า อยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยพยุงและรับแรงกระแทกที่เกิดภายในข้อเข่า ป้องกันการเสียดสีกันของกระดูก โดยในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรืออุบัติเหตุขณะเล่น ซึ่งทำให้ข้อเข่าเกิดการบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้หมอนรองเข่าบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดภายในข้อเข่า เข่าบวม ตึง หรืออาจรู้สึกว่าเข่าล็อกติดๆขัดๆ จะปวดมากขณะลงน้ำหนัก

3. กล้ามเนื้อต้นขาบาดเจ็บ (Muscle strain)

กล้ามเนื้อต้นขานั้นจะมีหลายมัด แต่กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (Groin) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เพิ่มแรงในขณะวิ่งและแรงในการเตะ ซึ่งในบางครั้งหากใช้แรงและเร็วมากเกินไป อาจจะเกิดแรงกระชากต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อถูกยืดและฉีกขาดกะทันหันได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านหลังหรือบริเวณขาหนีบ ปวดมากขณะขยับขาหรือเดินลงน้ำหนัก

การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเตรียมตัวที่ดีพอ เช่น ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา มีการ Warm up – Cool down เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงล่าง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและเสื้อผ้าที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนที่เพียงพอ และหากยังมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เบื้องต้นแนะนำให้พักและประคบเย็นทันที แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นแนะนำว่าควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจประเมินและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเรื้อรัง และทำให้กลับไปเล่นกีฬาได้โดยเร็ว

กภ.ธนพร (ออย)
Reference
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/KBJ/article/download/248045/167992/899052
https://www.orthocarolina.com/media/the-3-big-football-injuries-you-should-know-about
https://www.bupa.co.uk/newsroom/ourviews/common-football-injuries
https://www.physio-pedia.com/Meniscal_Lesions
https://www.physio-pedia.com/Hamstring_Strain
https://www.physio-pedia.com/Category:Knee_Injuries

นั่งพับเข่านานๆ นั่งกับพื้นทำให้ปวดเข่าจริงหรือไม่!?
Posted: September 17, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

โดยทั่วไปการนั่งคุกเข่าเป็นครั้งคราว ไม่นานนั้นไม่ได้ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่าท่านั่งบางท่า หากนั่งบ่อย ๆ อาจเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น 

* นั่งขัดสมาธิ 
* นั่งพับเพียบ 
* นั่งคุกเข่า 
* นั่งยอง ๆ 
* การนั่งงอเข่าพับไปใต้เก้าอี้

ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่ไม่เหมาะสม

ท่านั่งเหล่านี้ทำให้เกิดแรงกดต่อผิวข้อเข่ามากถึง 5 - 10 เท่าของน้ำหนักตัวส่งผลให้กระดูกอ่อนที่ผิวข้อเข่าสึกกร่อนเร็ว ส่งเสริมทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะข้อเข่าเสื่อมและมีอาการปวดเข่าตามมาได้

อาการปวดเข่าจากการนั่งพับเข่า เกิดจากที่ข้อเข่ามีแรงกดต่อผิวข้อ ทำให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสีซ้ำๆ จนสึกกร่อน และเกิดอักเสบบริเวณรอบข้อเข่าตามมา ไม่เพียงแต่การนั่งพับเข่าเท่านั้นที่เสี่ยงต่ออาการปวดเข่า แต่ยังรวมถึงการนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน เนื่องจากการอยู่ท่าเดิมนาน จะทำให้การไหลเวียนเลือดไปบริวเณต่างๆน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดอาการเกร็งตึงได้ ร่วมกับกล้ามเนื้อโดยรอบที่ไม่แข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา หรือกล้ามเนื้อน่อง ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อเพิ่มขึ้นและเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบเข่าได้อีกด้วย

ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการนั่งพับเข่า หรือนั่งท่าเดิมนานๆจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการปวดเข่าและภาวะข้อเข่าเสื่อมได้

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเข่าจากการนั่ง

ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่เหมาะสม

1. นั่งให้ถูกต้อง
ในนั่งบนเก้าอี้ที่มั่นคง สะโพกและเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้นหรือมีที่รองเท้าไม่ให้เท้าของเราลอยขึ้นจากพื้น

2. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุกๆ 1 ชั่วโมง
เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหลัง สะโพกและเข่าของเราทำงานในท่าเดิมๆ นานเกินไป ช่วยลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ด้วย

3. หมั่นยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควรยืดกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาเป็นประจำเพื่อลดความตึงตัว ร่วมกับออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาให้มีความแข็งแรงเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บได้

4. ประคบอุ่นบริเวณข้อเข้าและกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า
เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข้า เราสามารถใช้แผ่นประคบอุ่นประมาณ 20-30 นาทีเป็นประจำทุกวัน

หากอาการปวดยังคงอยู่หรือมีอาการเพิ่มขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มทำการตรวจประเมินร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกัน

โดย กภ. ภัทริดาภรณ์ (กิ๊ฟท์)
Reference
* https://www.healthline.com/health/sitting-on-knees
* Demura S, et al. (2005). Effect of Japanese sitting style (seiza) on the center of foot pressure after standing.https://www.jstage.jst.go.jp/article/jpa/24/2/24_2_167/_pdf/-char/ja

ปวดแบบไหนควรประคบร้อนหรือเย็น
Posted: January 11, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

การใช้ประคบเย็น เพื่อลดอาการปวด

ควรใช้ในกรณีหลังมีการบาดเจ็บมาในช่วง 24 - 48 ชั่วโมงแรก หรือมีข้อบ่งชี้ว่าเส้นเลือดบริเวณนั้นมีการฉีกขาด หรือมีการอักเสบ ได้แก่ มีอาการปวด ร่วมกับการบวม แดง และร้อน ซึ่งความเย็นมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดออกน้อยลง การบาดเจ็บและการอักเสบจึงลดลงตามไปด้วย

อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการปวดในช่วงแรก

วิธีประคบที่เหมาะสม อาจใช้เจลสำหรับประคบเย็นแบบสำเร็จรูปหรือทำถุงน้ำแข็งขึ้นใช้เอง โดยใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะ เติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งในสัดส่วนที่เท่ากัน นำผ้ามาหุ้มอีกชั้น ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไปโดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทน โดยประคบหรือแช่นานประมาณ 10
- 15 นาทีต่อครั้ง จำนวน 2 - 3 ครั้งต่อวัน

การใช้ประคบร้อน เพื่อลดอาการปวด

ประคบอุ่นนั้นสามารถกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น ลดอาการเมื่อยล้า และยังส่งผลในการช่วยลดปวดได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง และหากทำควบคู่กับการยืดกล้ามเนื้อจะยิ่งมีประสิทธิภาพในการลดความปวดมากยิ่งขึ้น

อาการที่ควรประคบอุ่น เมื่อมีอาการปวดเมื่อย ปวดตึงของกล้ามเนื้อจากสาเหตุต่างๆ เช่น การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน การนั่งขับรถต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือการยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถประคบอุ่นได้ทุกบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ เช่น คอ-บ่า หลัง ขา เป็นต้น

วิธีประคบอุ่นที่เหมาะสม ประคบอุ่นในระดับความร้อนที่อุ่นสบาย ต้องไม่รู้สึกแสบผิวหรือไม่ร้อนจัดเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดผิวหนังไหม้พอง แนะนำประคบครั้ง 15 - 20 นาที วันละ 1 - 2 รอบ

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการประคบอุ่น

ไม่ควรประคบอุ่นในบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน มีแผลเปิด หรือผิวเป็นผื่น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบอุ่น

1. เจลประคบอุ่น หรือถุงน้ำร้อน โดยต้องห่อด้วยผ้าเพื่อให้ได้ความร้อนที่เหมาะสม ข้อดีคือ หาใช้ได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้

2. แผ่นประคบอุ่นไฟฟ้า เป็นการประคบอุ่นรูปแบบใหม่ข้อดีคือ สามารถควบคุมระดับความร้อนที่พอเหมาะได้ โดยแผ่นประคบอุ่นไฟฟ้าจะมีความร้อนคงที่ มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ปลอดภัยสูงเพราะสามารถตั้งเวลาใช้งานได้ อายุการใช้งานนานสามารถประคบได้ทั่วถึงทุกส่วน แต่มีราคาสูงกว่าแบบถุงน้ำร้อน

5 สัญญาณอันตราย อาการไหนเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม
Posted: December 20, 2023 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

ข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะข้อเข่าที่มีกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) สึกกร่อน รวมถึงน้ำไขข้อเข่า (synovial fluid) ที่ช่วยหล่อลื่นข้อเข่าลดลง ทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างผิวข้อจนเกิดกระดูกงอก (osteophyte) เกิดอักเสบและอาการปวดตามมา หากมีอาการเสื่อมมากอาจทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวและการผิดรูปของข้อเข่าได้โดยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

1. ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บในเข่า
เกิดเสียงในข้อเข่าเมื่อมีการขยับ เคลื่อนไหวข้อเข่า เกิดจากผิวกระดูกอ่อนบางหรือสึกกร่อน ทำให้ผิวกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บขึ้น

2. ข้อเข่าฝืดตึงแข็งกว่าปกติ
ข้อเข่าฝืดแข็ง โดยจะเกิดในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือนั่งในท่าเดิมนานๆ เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ จะรู้สึกข้อเข่า ฝืด ขัด เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดน้อยลง ทำให้การเคลื่อนไหวของเข่าไม่ราบรื่น

3. ปวดเสียวภายในข้อเข่า
เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดน้อยลง เมื่อมีการขยับข้อเข่าผิวกระดูกจะเสียดสีกัน และกระดูกงอกจะทิ่มแทงเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเข่า จึงทำให้เกิดอาการปวดเสียวในเข่า โดยมักปวดมากเวลาเดิน หรือเวลาที่มีการลงน้ำหนัก

4. รู้สึกเมื่อยล้าเข่าง่าย เดินได้ไม่นาน
เกิดจากกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าไม่แข็งแรง บางครั้งอาจพบว่าเข่าข้างที่เมื่อยล้าง่ายมีขนาดกล้ามเนื้อขาเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับขาอีกข้าง

5. เข่าผิดรูป
หากมีลักษณะ เข่าโก่ง เข่าแอ่น หรือเข่าชนกัน ข้อเข่าหลวมมากขึ้น นับเป็นอาการข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงระหว่างการเดิน การยืน เดินลำบาก และเสี่ยงต่อการล้ม

หากใครมี5 อาการในข้อนี้ร่วมกับอาการปวดเข่าควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่ เหมาะสมรวมทั้งดูแลตนเองไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น

วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเข่าเสื่อม

5.1 หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งยอง หรือท่านั่งที่มีการงอเข่าเยอะ ๆ
5.2 เลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มีขั้นสูงๆ มากๆ
5.3 การลดน้ำหนักในกรณีน้ำหนักเกิน
5.4 แนะนำการใช้ไม้เท้าในกรณีที่จำเป็นต้องเดินเยอะ
5.5 เพิ่มการออกกำลังกาย โดยท่าออกกำลังกายที่แนะนำควรเป็นท่าที่ทำแล้วไม่มีอาการเจ็บหรือปวดเพิ่มมากขึ้น

วิธีการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ท่าที่ 1 นอนหงาย ชันขา 2 ข้างขึ้น หนีบหมอนหรือลูกบอลเล็กๆ ระหว่างขา 2 ข้าง จากนั้นยกก้นขึ้นค้างไว้ 5 - 10 วินาทีประมาณ 10 ครั้ง ทำ 1 - 2 รอบต่อวัน