Skip to main content

เจ็บฝ่าเท้าต้องระวังเป็นรองช้ำ (Plantar Fasciitis)

โรครองช้ำ หรือ โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของพังผืดใต้ฝ่าเท้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างปกติของเท้าทำหน้าที่ช่วยกระจายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้าอย่างเหมาะสมในขณะยืนหรือเดิน เมื่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าเกิดการอักเสบ จึงเกิดการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากเพราะทำให้การเดินมีความยากลำบาก และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บหรือปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกายตามมาได้
 

üสาเหตุ
ขณะที่ยืน เดิน หรือวิ่ง ฝ่าเท้าและอุ้งเท้าจะเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักที่กดลงมาจากร่างกาย ส่งผลให้อุ้งเท้าแบนราบลง พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกเพื่อช่วยพยุงอุ้งเท้าไว้ เมื่อเกิดการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าที่ต่อเนื่องหรือมากเกินไป ส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกเป็นระยะเวลานาน กลไกดังกล่าวหากเกิดขึ้นซ้ำๆ จะส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าได้รับบาดเจ็บ และเกิดการอักเสบเรื้อรังได้
 

üปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจสัมพันธ์กับการเกิดโรครองช้ำ มีหลายปัจจัย เช่น
- อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของพังผืดฝ่าเท้าลดลง
- ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
- เส้นเอ็นร้อยหวาย
- เส้นเอ็นร้อยหวายหรือพังผืดฝ่าเท้าตึงเกินไป ไม่ยืดหยุ่น  ซึ่งอาจเกิดได้จากไม่มีการยืดคลายเส้นเอ็น หลังการใช้งานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ยืนนานๆ เดินนานๆ หรือใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
- น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ส่งผลให้เกิดแรงกดต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าเพิ่มขึ้น
- สวมใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ใส่รองเท้าพื้นแข็ง หรือไม่พอดีกับเท้า ส่งผลให้การกระจายน้ำหนักที่เท้าไม่ดี ทำให้กล้ามเนื้อและพังผืดใต้ฝ่าเท้าทำงานหนักมากขึ้น
- ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบน หรืออุ้งเท้าสูง เนื่องจากผู้ที่มีภาวะเท้าแบนอาจส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกมากกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูงพังผืดใต้ฝ่าเท้าจะมีการหดตัวเข้าหากันมากกว่าปกติ ทั้ง 2 สาเหตุทำให้กล้ามเนื้อและพังผืดใต้ฝ่าเท้าไม่อยู่ในความยาวปกติ จึงเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรครองช้ำ
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ  อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
 

üอาการ
- ปวด ตึง หรือรู้สึกเจ็บคล้ายมีของแหลมมาทิ่มบริเวณส้นเท้า
- อาจมีอาการปวดตั้งแต่บริเวณส้นเท้า จนถึงกลางฝ่าเท้า
- มีอาการปวดบริเวณส้นเท้า โดยเฉพาะ “ก้าวแรกหลังตื่นนอน (Morning Pain)” หรือ “ก้าวแรกหลังจากนั่งเป็นเวลานาน (First Step Pain)” แต่เมื่อเดินไปสักระยะอาการเจ็บบริเวณส้นเท้าจะลดลง
- อาการปวดอาจเกิดขึ้นได้อีกหากมีกิจวัตรที่ต้อง “ยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน”
- มีจุดกดเจ็บบริเวณส้นเท้าด้านใน
 

üเราสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้อย่างไรบ้าง?
การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ระบบข้อต่อและกล้ามเนื้อ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถชี้วัดได้ว่ามีการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า โดยสำหรับผู้ที่เป็นโรครองช้ำนั้น ทำอัลตราซาวด์จะพบว่า เส้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้าจะมีลักษณะบวมหนามากกว่าปกติ โดยหากมีความหนามากกว่า 4.5 mm. ซึ่งบ่งบอกว่าพังผืดฝ่าเท้านั้นมีการอักเสบ ( Cardinal E, Chhem RK, Beauregard CG, Aubin B, Pelletier M. Plantar fasciitis: sonographic evaluation. Radiology. 1996 Oct;201(1):257-9.)
 

ภาพแสดง การหนาตัวของเส้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้าที่มีการอักเสบ (ด้านซ้าย) การหนาตัวของเส้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้าปกติ (ด้านขวา) อ้างอิง : https://radiopaedia.org/cases/82218/studies/96273


ในผู้ป่วยบางรายที่พังผืดฝ่าเท้าเกิดการอักเสบตรงจุดเกาะพังผืดเป็นเวลานานๆ หลายปี ร่างกายจะมีการสร้างแคลเซียมมาพอกเอาไว้ เมื่อตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์อาจพบการงอกกระดูกตรงบริเวณส้นเท้าซึ่งเป็นจุดเกาะของพังผืดได้
 

ภาพแสดงส้นเท้าปกติ (ด้านซ้าย) ภาพแสดงกระดูกงอกบริเวณส้นเท้า (ด้านขวา)
อ้างอิง : Ultrasound Images of Plantar Fasciitis - Ankle, Foot and Orthotic Centre (ankleandfootcentre.com.au)
 

üวิธีการรักษาทางการแพทย์
1.การรักษาทางกายภาพบำบัด (Physical therapy) โดยมีงานวิจัยรองรับว่าการใช้คลื่นกระแทกหรือ Focus Shockwave สามารถช่วยรักษาโรครองช้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะใช้ Focus Shockwave ส่งพลังงานลึกลงไปที่ชั้นพังผืดใต้ฝ่าเท้า พลังงานดังกล่าวจะกระตุ้นเนื้อเยื่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ลดความตึงของพังผืดที่เกิดจากการอักเสบเรื้องรังได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดจากโรครองช้ำได้ ร่วมกับการใช้ High Power Laser ในการเติมพลังงานให้เซลล์ เพื่อช่วยในการกระตุ้นให้หายจากการอักเสบและการระบม นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรครองช้ำ คือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับพังผืดใต้ฝ่าเท้าและกล้ามเนื้อน่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
2.การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (platelet rich plasma /PRP injection) คือ การฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง โดยนำเลือดของตนเองมาสกัดเอาสารที่มีฤทธิ์ซ่อมแซมและลดการอักเสบและฉีดกลับเข้าไปบริเวณเอ็นฝ่าเท้าที่มีการบาดเจ็บเพื่อเร่งกระบวนการซ่อมแซม จึงทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อาการบาดเจ็บลดลง โดยปกติมักเห็นผลดีตั้งแต่เข็มแรกของการฉีด ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีงานวิจัยรองรับมากมาย แนะนำทำในคนที่มีอาการมาก ต้องการฟื้นตัวเร็ว เช่น นักกีฬา หรือในคนที่รักษาด้วยการกายภาพบำบัดแล้วยังไม่หาย
3.การฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Steroid injection) คือการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณส้นเท้าจุดที่มีอาการปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2-3 ครั้งใน 1 ปี เพราะอาจส่งผลให้เส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้
4.การผ่าตัด ควรพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย และควรทำเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรครองช้ำที่มีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

 

ภาพแสดง การรักษาโรครองช้ำด้วยโฟกัสช็อคเวฟ  (Focus Shockwave Therapy) ที่รีแฮปแคร์คลินิก

ภาพแสดง การรักษาโรครองช้ำด้วยเลเซอร์พลังงานสูง  (high power laser Therapy) ที่รีแฮปแคร์คลินิก

ภาพแสดง การรักษาโรครองช้ำด้วยอัลตราซาวด์ความร้อนลึก (Ultrasound Therapy)  ที่รีแฮปแคร์คลินิก

ภาพแสดง นำวิถีฉีด PRP ด้วยอัลตราซาวด์
อ้างอิง : https://epos.myesr.org/posterimage/esr/ecr2018/144177/mediagallery/766679?deliveroriginal=1


üนอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว เราควรปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าทั้งในและนอกบ้าน
- สวมใส่รองเท้าที่เหมาะกับเท้า : รองเท้าเป็นขนาดพอดีกับความยาวและความกว้างของเท้า วัสดุสวมใส่สบาย มีส่วนโค้งรองรับพอดีกับอุ้งเท้า และพื้นรองเท้ารองรับแรงกระแทกของฝ่าเท้าขณะเดินหรือออกกำลังกายได้ดี
- ใช้แผ่นรองรองเท้า (Insole) ที่มีความอ่อนนุ่ม และรองรับอุ้งเท้าได้พอดี : เพื่อพยุงและลดแรงกระแทกที่บริเวณส้นเท้า
- ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อน่อง และฝ่าเท้าสม่ำเสมอ ปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำข้างต้น
- ควรลดการเดินเยอะๆ เดินติดต่อกันนานๆ
- การประคบอุ่นหรือแช่เท้าในน้ำอุ่นจะช่วยรักษาอาการปวดตึง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพราะความร้อนช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น


แต่หากปฏิบัติแล้วยังมีอาการปวดแนะนำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและป้องกันการเกิดภาวะเรื้อรังหรือภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะส่งผลทำให้การรักษาโรคยากขึ้น ไปจนถึงคุณภาพชีวิตแย่ลง