Skip to main content

เจ็บหัวเข่าด้านใน

3 อันดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอล
Posted: September 23, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

สำหรับนักกีฬาหรือคนที่ชอบการเล่นกีฬาคงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็ว เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน และเกิดการปะทะ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่างๆได้ ดังนี้

1. เส้นเอ็นข้อเข่าบาดเจ็บ (Knee ligaments sprain) โดยเส้นเอ็นข้อเข่า(knee ligaments) จะมี 4 เส้น ประกอบไปด้วย 
- เอ็นไขว้หน้า (ACL ; Anterior Cruciate Ligament)
- เอ็นไขว้หลัง (PCL ; Posterior Cruciate Ligament)
- เอ็นข้างด้านใน (MCL ; Medial Collateral Ligament)
- เอ็นข้างด้านนอก (LCL ; Lataral Collateral Ligament)

ซึ่งเส้นเอ็นข้อเข่าจะเชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยรักษาและพยุงความมั่นคงของข้อเข่าไว้ในขณะทำกิจกรรม ซึ่งในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด กระแทก เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรือเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้ข้อเข่าโดนกระแทกหรือบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้เส้นเอ็นข้อเข่าอาจจะเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณเข่า (ขึ้นอยู่กับเส้นเอ้นที่บาดเจ็บ) เข่าบวม รู้สึกเข่าไม่มั่นคง

2. หมอนรองเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด (Meniscus tear) โดยหมอนรองเข่ามี 2 ส่วน ประกอบไปด้วย
- หมอนรองเข่าด้านใน (Medial meniscus)
- หมอนรองเข่าด้านนอก (Lateral meniscus)

ซึ่งหมอนรองเข่าจะอยู่ภายในข้อเข่า อยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยพยุงและรับแรงกระแทกที่เกิดภายในข้อเข่า ป้องกันการเสียดสีกันของกระดูก โดยในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรืออุบัติเหตุขณะเล่น ซึ่งทำให้ข้อเข่าเกิดการบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้หมอนรองเข่าบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดภายในข้อเข่า เข่าบวม ตึง หรืออาจรู้สึกว่าเข่าล็อกติดๆขัดๆ จะปวดมากขณะลงน้ำหนัก

3. กล้ามเนื้อต้นขาบาดเจ็บ (Muscle strain)

กล้ามเนื้อต้นขานั้นจะมีหลายมัด แต่กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (Groin) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เพิ่มแรงในขณะวิ่งและแรงในการเตะ ซึ่งในบางครั้งหากใช้แรงและเร็วมากเกินไป อาจจะเกิดแรงกระชากต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อถูกยืดและฉีกขาดกะทันหันได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านหลังหรือบริเวณขาหนีบ ปวดมากขณะขยับขาหรือเดินลงน้ำหนัก

การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเตรียมตัวที่ดีพอ เช่น ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา มีการ Warm up – Cool down เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงล่าง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและเสื้อผ้าที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนที่เพียงพอ และหากยังมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เบื้องต้นแนะนำให้พักและประคบเย็นทันที แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นแนะนำว่าควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจประเมินและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเรื้อรัง และทำให้กลับไปเล่นกีฬาได้โดยเร็ว

กภ.ธนพร (ออย)
Reference
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/KBJ/article/download/248045/167992/899052
https://www.orthocarolina.com/media/the-3-big-football-injuries-you-should-know-about
https://www.bupa.co.uk/newsroom/ourviews/common-football-injuries
https://www.physio-pedia.com/Meniscal_Lesions
https://www.physio-pedia.com/Hamstring_Strain
https://www.physio-pedia.com/Category:Knee_Injuries

5 สัญญาณอันตราย อาการไหนเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม
Posted: December 20, 2023 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

ข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะข้อเข่าที่มีกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) สึกกร่อน รวมถึงน้ำไขข้อเข่า (synovial fluid) ที่ช่วยหล่อลื่นข้อเข่าลดลง ทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างผิวข้อจนเกิดกระดูกงอก (osteophyte) เกิดอักเสบและอาการปวดตามมา หากมีอาการเสื่อมมากอาจทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวและการผิดรูปของข้อเข่าได้โดยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

1. ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บในเข่า
เกิดเสียงในข้อเข่าเมื่อมีการขยับ เคลื่อนไหวข้อเข่า เกิดจากผิวกระดูกอ่อนบางหรือสึกกร่อน ทำให้ผิวกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บขึ้น

2. ข้อเข่าฝืดตึงแข็งกว่าปกติ
ข้อเข่าฝืดแข็ง โดยจะเกิดในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือนั่งในท่าเดิมนานๆ เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ จะรู้สึกข้อเข่า ฝืด ขัด เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดน้อยลง ทำให้การเคลื่อนไหวของเข่าไม่ราบรื่น

3. ปวดเสียวภายในข้อเข่า
เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดน้อยลง เมื่อมีการขยับข้อเข่าผิวกระดูกจะเสียดสีกัน และกระดูกงอกจะทิ่มแทงเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเข่า จึงทำให้เกิดอาการปวดเสียวในเข่า โดยมักปวดมากเวลาเดิน หรือเวลาที่มีการลงน้ำหนัก

4. รู้สึกเมื่อยล้าเข่าง่าย เดินได้ไม่นาน
เกิดจากกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าไม่แข็งแรง บางครั้งอาจพบว่าเข่าข้างที่เมื่อยล้าง่ายมีขนาดกล้ามเนื้อขาเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับขาอีกข้าง

5. เข่าผิดรูป
หากมีลักษณะ เข่าโก่ง เข่าแอ่น หรือเข่าชนกัน ข้อเข่าหลวมมากขึ้น นับเป็นอาการข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงระหว่างการเดิน การยืน เดินลำบาก และเสี่ยงต่อการล้ม

หากใครมี5 อาการในข้อนี้ร่วมกับอาการปวดเข่าควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่ เหมาะสมรวมทั้งดูแลตนเองไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น

วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเข่าเสื่อม

5.1 หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งยอง หรือท่านั่งที่มีการงอเข่าเยอะ ๆ
5.2 เลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มีขั้นสูงๆ มากๆ
5.3 การลดน้ำหนักในกรณีน้ำหนักเกิน
5.4 แนะนำการใช้ไม้เท้าในกรณีที่จำเป็นต้องเดินเยอะ
5.5 เพิ่มการออกกำลังกาย โดยท่าออกกำลังกายที่แนะนำควรเป็นท่าที่ทำแล้วไม่มีอาการเจ็บหรือปวดเพิ่มมากขึ้น

วิธีการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ท่าที่ 1 นอนหงาย ชันขา 2 ข้างขึ้น หนีบหมอนหรือลูกบอลเล็กๆ ระหว่างขา 2 ข้าง จากนั้นยกก้นขึ้นค้างไว้ 5 - 10 วินาทีประมาณ 10 ครั้ง ทำ 1 - 2 รอบต่อวัน

รูปภาพ แสดงวิธีการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ท่าที่ 2 นอนคว่ำ งอเข่าเข้าหาก้น งอค้างไว้5 – 10 วินาทีทำทีละข้าง ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง สลับ 2 ข้าง ท่านี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาทางด้านหลัง ทำ 1 - 2 รอบ ต่อวัน