Skip to main content

Lateral_epicondylitis

TENNIS ELBOW ปวดศอกด้านนอก อาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักเทนนิส
Posted: July 14, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

หลายคนคงเคยประสบกับอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกขณะเคลื่อนไหวข้อมือโดยเฉพาะการกระดกข้อมือขึ้น และอาจจะเจ็บมากขึ้นเมื่อออกแรงกำมือร่วมกับการกระดกข้อมือ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องพิมพ์งานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือจะเหล่าแม่บ้านที่ต้องทำงานบ้านอย่างหนัก วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคที่เรียกว่า “Tennis elbow” 

Tennis elbow คืออะไร ?? 

Tennis elbow / Lateral epicondylitis เป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือขึ้น (extensor muscle group of the forearm) โดยกล้ามเนื้อกลุ่มนี้จะมีจุดเกาะต้นอยู่ที่บริเวณปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก (lateral epicondyle) โดยกล้ามเนื้อที่มักจะพบปัญหามากที่สุดคือ extensor carpi radialis brevis

มาทำความรู้จักกับกล้ามเนื้อต้นเหตุของเรากันหน่อยดีกว่า

Extensor carpi radialis brevis

Extensor carpi radialis brevis

จุดเกาะต้น : ปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก (lateral epicondyle)

จุดเกาะปลาย : ฐานของกระดูก matacarpal ของนิ้วที่สาม

หน้าที่: กระดกข้อมือขึ้น (Extend and abduct wrist joint)


สาเหตุของ Tennis elbow

มักเกิดจากการใช้งานซ้ำๆมากจนเกินไป(overuse) เช่น นักกีฬาเทนนิส / แบดมินตัน , การกระดกข้อมือเพื่อพิมพ์คีย์บอร์ดต่อเนื่องเป็นเวลานาน , ช่างซ่อมที่ต้องใช้เครื่องมือประเภท คีมห รือไขควง เป็นต้น หรือมีการสะบัด / ตวัดข้อมือขึ้นแรงๆ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณศอก 

สาเหตุของ Tennis elbow


อาการของ Tennis elbow

- มีอาการปวดบริเวณปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก (lateral epicondyle) เมื่อขยับข้อมือ ในบางรายอาจปวดร้าวไปตามแขนจนถึงข้อมือ

- มีจุดกดเจ็บที่บริเวณเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่บริเวณปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอก

- ในรายที่เพิ่งเป็นอาจพบอาการบวม แดง ร้อนที่บริเวณข้อศอก

- ในรายที่มีการอักเสบเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกร่วมด้วย


วิธีการรักษา Tennis elbow

1. การรักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด (Non-surgical treatment)

- ในระยะแรก หากยังมีอาการบวม แดง และร้อนบริเวณข้อศอก แนะนำให้พักการใช้งานแขนข้างที่มีอาการ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวดประมาณ15 - 20 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมได้

- ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drug: NSAIDs) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวด

ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

- Platelet Rich Plasma (PRP) คือการสกัดเอาเกล็ดเลือด โปรตีน ฮอร์โมน growth factor และเซลล์จากกระแสเลือด แล้วฉีดกลับเข้าไปยังส่วนที่ได้รับการบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ ซึ่งจะช่วยในการสมานแผลและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่บาดเจ็บ

- Prolotherapy injection คือฉีดกลูโคสเข้าไปที่บริเวณกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการอักเสบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเร่งกระบวนการฟื้นฟูและรักษาตามธรรมชาติ โดยจะใช้เครื่องอัลตราซาวน์ในการนำการฉีดยา เพิ่มความปลอดภัยและแม่นยำในการฉีด และลดความเสี่ยงการฉีดไปโดนเส้นประสาท

- Physical therapy 

Shockwave therapy

Shockwave therapy : เป็นการส่งผ่านคลื่นกระแทกเข้าไปยังบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา

High power laser therapy

High power laser therapy : เกิดการกระตุ้นปลายประสาท ยับยั้งกระบวนการปวด ลดอาการปวด บวม และอักเสบ นอกจากนี้เลเซอร์มีผลความร้อน ทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีผลในการนำเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์มากขึ้น เร่งการจำกัดของเสีย ช่วยลดการอักเสบ และที่สำคัญเลเซอร์มีจุดเด่นในการปรับพลังงานของเซลล์ (ATP) จากการกระตุ้นการขนส่งออกซิเจน และไมโตรคอนเดรีย ภายในเซลล์ให้รวดเร็วขึ้น ผลจาก ATP ที่มากขึ้นทำให้เซลล์มีการซ่อมแซม ฟื้นฟูที่รวดเร็วมากขึ้น

Ultrasound therapy

Ultrasound therapy : ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อ เร่งกระบวนการซ่อมแซม โดยจะเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ลดอาการปวดเเละการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ 

2. การรักษาโดยใช้การผ่าตัด (Surgical treatment) 

- หากรักษาด้วยวิธีการอื่นๆแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลยภายใน 6 - 12 เดือน แพทย์อาจพิจารณาและแนะนำให้ทำการผ่าตัด


ท่าบริหารเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เป็นโรค Tennis elbow

1. ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (Wrist flexors stretch)

วิธียืด : หงายฝ่ามือพร้อมกระดกข้อมือขึ้น เหยียดศอกตรง ใช้มืออีกข้างช่วยในการกระดกข้อมือ ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (Wrist flexors stretch)

2. ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านหลัง (Wrist extensors stretch)

วิธียืด : คว่ำฝ่ามือพร้อมกระดกข้อมือลง เหยียดศอกตรง ใช้มืออีกข้างช่วยในการกระดกข้อมือ ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านหลัง (Wrist extensors stretch)

3. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (Wrist flexors strengthening)

วิธีทำ : ตั้งศอก 90°กับลำตัว ถือดัมเบลล์หรือขวดน้ำ หนักประมาณ 1 kg หงายฝ่ามือพร้อมกระดกข้อมือขึ้น ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต

ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (Wrist flexors strengthening)

4. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนด้านหลัง (Wrist extensor strengthening)

วิธีทำ : ตั้งศอก 90° กับลำตัว ถือดัมเบลล์หรือขวดน้ำ หนักประมาณ 1 kg คว่ำฝ่ามือลงพร้อมกระดกข้อมือขึ้น ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต

ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนด้านหลัง (Wrist extensor strengthening)

5. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในการบิดหมุนข้อมือ (Supinator & pronator strengthening)

วิธีทำ : ตั้งศอก 90°กับลำตัว ถือดัมเบลล์หรือขวดน้ำ หนักประมาณ 1 kg หมุนฝ่ามือหงายสลับกับคว่ำมือ ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต

ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในการบิดหมุนข้อมือ (Supinator & pronator strengthening)

6. ท่าบีบลูกบอล

วิธีทำ : กำลูกบอลค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต

ท่าบีบลูกบอล

7. ท่ากางนิ้ว 

วิธีทำ : ใช้ยางยืดหรือหนังยางสวมไว้บริเวณนิ้วแล้วกางออก ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต

ท่ากางนิ้ว

 

สามารถติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้กับทางรีแฮปแคร์คลินิกโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นและนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare