Skip to main content

5 ท่าที่ทำประจำอาจทำให้เอ็นหัวไหล่ฉีก โดยไม่รู้ตัว

5 ท่าที่ทำประจำอาจทำให้เอ็นหัวไหล่ฉีก โดยไม่รู้ตัว
Posted: January 19, 2024 By: adminrehabcare2 Categories:  ปวดไหล่ Comment:  0

หัวไหล่เป็นหนึ่งในข้อต่อที่สำคัญของร่างกาย เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ข้อไหล่จึงเป็นหนึ่งในข้อต่อที่เคลื่อนไหวและถูกใช้ในการทำกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันของเรามากที่สุดข้อหนึ่ง โดยบริเวณหัวไหล่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว และถ้าหากเราทำท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิด อาจเป็นการทำร้ายข้อไหล่โดยไม่รู้ตัว วันนี้เรามารู้จักท่าทางที่ผิดๆ ที่มักเผลอทำกันจนเป็นการทำร้ายข้อไหล่ และส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับอาการปวดไหล่หรืออันตรายถึงขึ้นเอ็นหัวไหล่ฉีกตามมา

5 ท่าที่ทำโดยไม่รู้ตัวเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดไหล่

ท่าที่ 1 นอนตะแคงทับแขนตัวเอง ทำให้ข้อไหล่ถูกกดทับและเกิดแรงกดทับต่อกล้ามเนื้อไหล่และเส้นเอ็น ทำให้เกิดอาการปวดไหล่จากการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นได้

โดยท่านอนตะแคงที่ถูกต้องคือต้องไม่นอนทับแขนตัวเอง เหยียดแขนออกมาเล็กน้อยและใช้การกอดหมอนหรือกอดหมอนข้างเพื่อลดการกดทับของข้อไหล่

ท่าที่ 2 หิ้วของหนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อทำงานหนัก (overuse) เส้นเอ็นจึงถูกดึงกระชากจากน้ำหนักของที่มากขึ้น ทำให้เกิดการบาดจ็บของเส้นเอ็นกล้ามนื้อไหล่ได้ เช่น การหิ้วถังน้ำ หิ้วผลไม้ ที่มีน้ำหนักมากเป็นเวลานานๆ

โดยท่าที่ถูกคือ แบ่งน้ำหนักให้น้อยลงและยกของให้แนบชิดลำตัวให้มากที่สุด เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อไหล่

ท่าที่ 3 แกว่งแขนเพื่อออกกำลังกาย โดยอาจจะแกว่งแขนในลักษณะที่ผิด ไม่ควรแกว่งแขนในลักษณะคว่ำมือ และเร็วๆ แรงๆ ซ้ำๆ ซึ่งการแกว่งแขนแบบคว่ำมือนั้นทำให้ข้อไหล่หมุนเข้า มีโอกาสเกิดการกดเบียดระหว่างกระดูกข้อไหล่และกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้ จนเกิดการอักเสบรุนแรงและปวดไหล่ หรืออาจเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดรุนแรงจนต้องผ่าตัด

โดยท่าที่ถูกคือการแกว่งแขนในลักษณะหันมือเข้าหาลำตัวหรือหงายมือ และแกว่งช้าๆ ไม่เหวี่ยงแขนด้วยความเร็ว ระหว่างที่ทำควรนับจำนวนครั้ง แบ่งเป็นเซ็ตและควรมีเวลาพักระหว่างเซ็ตด้วย เพื่อไม่ให้ข้อไหล่ทำงานหนักเกินไป

ท่าที่ 4 เอื้อมหรือยกแขนเหนือศีรษะเป็นเวลานาน เช่น เอื้อมหยิบของหลังรถ เอื้อมเช็ดกระจก เอื้อมยกของหนักๆ การยกแขนสูงเหนือศีรษะในลักษณะทำซ้ำๆ โดยหลายคนจะยกแขนขึ้นในลักษณะที่คว่ำมือลง ซึ่งเป็นท่าทางที่ผิดเป็นอย่างมาก การคว่ำมือลงจะทำให้ข้อไหล่บิดหมุนเข้าด้านใน และเมื่อเรายกแขนสูงในท่านั้นจะเกิดการกดเบียดระหว่างกระดูกข้อไหล่และกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดไหล่ได้เช่นกัน

โดยท่าที่ถูกต้องคือการยกแขนในลักษณะที่หันฝ่ามือเข้าหาตัวเองหรือหงายมือขึ้น ท่านี้จะทำให้ไม่เกิดการกดเบียดระหว่างกระดูกข้อไหล่และกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น และหากต้องใช้ข้อไหล่ในการทำกิจกรรมซ้ำๆ ควรมีช่วงเวลาพัก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

ท่าที่ 5 การวิดพื้นผิดวิธี การยันพื้นหรือใช้หัวไหล่รับน้ำหนักตัวทั้งหมด จะทำให้เกิดแรงกระทำแบบบดขยี้ (Crush Injury) ที่เส้นเอ็นซึ่งอยู่ระหว่างข้อหัวไหล่และกระดูกแขน เกิดการอักเสบ หรือการฉีกขาดของเอ็นหัวไหล่ได้

โดยการออกกำลังกายที่ดี ควรค่อยๆ เริ่ม ไม่ควรเพิ่มจำนวนครั้งที่มากเกิดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงมากระทำต่อเส้นเอ็น

หากใครมีอาการปวดไหล่และยกได้ไม่สุด แนะนำการตรวจวินิจฉัยโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ (musculoskeletal ultrasound) เพื่อใช้วินิจฉัยสแกนดูความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในข้อไหล่ ซึ่งจะสามารถตรวจได้ถึงลักษณะเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ ทำให้เห็นถึงการอักเสบ การฉีกขาดและความผิดปกติภายในข้อไหล่ได้

ส่วนในการรักษานั้นนักกายภาพบำบัดจะเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมต่ออาการคนไข้โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ดังนี้ Focus Shockwave, High Power Laser, Ultrasound, Electrical Stimulation เพื่อลดอาการปวด การอักเสบ ร่วมกับการออกกำลังกายและการยืดกล้ามเนื้อเฉพาะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและคงสภาพการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ เพิ่มความมั่นคงและใช้งานทดแทนเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บได้